การปลูกและการดูแลรักษาอ้อย

อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ สามารถปลูกได้เกือบทุกภาคของประเทศ มีอายุเก็บเกี่ยว 10-12 เดือน เก็บผลผลิตได้ 2-3 ปี สภาพแวดล้อม พันธุ์และการบำรุงดูแลรักษาเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มผลิตและคุณภาพของอ้อย อ้อยสามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกประเภท ตั้งแต่ดินร่วนถึงดินร่วนปนทราย พื้นที่ปลูกควรเป็นที่ราบ ควรหลีกเลี่ยงการปลูกอ้อยในดินเหนียวจัด ดินทรายจัดและดินลูกรัง

การเตรียมดิน
ในพื้นที่ที่ปลูกอ้อยมาเป็นเวลานาน มักจะเกิดดินดาน จึงควรไถดินดานเพื่อทำลายชั้นดินดาน ก่อนที่จะทำการไถดะ ไถแปร เมื่อเตรียมดินแล้ว จึงทำการยกร่องเพื่อปลูกอ้อย
-การเตรียมดินในพื้นที่ทั่วไป จะไถ 2-3 ครั้ง ลึกประมาณ 30-50 เซนติเมตร
-การเตรียมดินในพื้นที่ปลูกอ้อยมาก่อน มักจะเกิดชั้นดินดาน เนื่องจากมีการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร หรือรถบรรทุกเข้าไปเหยียบย่ำในพื้นที่ เกิดการบดอัดในดินชั้นล่าง จึงเกิดชั้นดินดาน ทำให้เป็นปัญหาการไหลซึมของน้ำสู่ดินชั้นล่างไม่ดี รากอ้อยไม่สามารถเจริญลึกลงไปในดินชั้นล่างได้เท่าที่ควร

การเตรียมท่อนพันธุ์
ใช้พันธุ์อ้อยที่ผ่านการคัดเลือกแล้วว่ามีความแข็งแรงปราศจากโรคและแมลง มาทำพันธุ์ จะช่วยลดการสูญเสียและค่าใช้จ่ายในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงโดยมีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้
-ในเขตที่มีการระบาดของโรคและแมลงรุนแรงควรแช่พันธุ์อ้อยในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 2 ชั่วโมง หรือแช่ในสารเคมี
-พันธุ์อ้อยควรมีอายุ 8–10 เดือน
-ไม่ต้องลอกกาบใบและควรลอกเมื่อปลูก
-ไม่ควรตัดพันธุ์อ้อยทิ้งไว้เกิน 3 วัน

ระยะปลูก
-ถ้าใช้คนปลูกจะยกร่องกว้าง 1.4-1.5 เมตร วางพันธุ์อ้อยเป็นลำโดยใช้ลำเดี่ยวเกยกันครึ่งลำหรือ 2 ลำคู่ตามลักษณะการแตกกอของพันธุ์อ้อยที่ใช้
-ถ้าใช้เครื่องปลูก หลังจากเตรียมดินแล้ว ไม่ต้องยกร่องจะใช้เครื่องปลูกติดท้ายแทรกเตอร์ โดยจะมีตัวเปิดร่องและช่องสำหรับใส่พันธุ์อ้อยเป็นลำ และมีตัวตัดลำอ้อยเป็นท่อนลงในร่องและมีตัวกลบดินตามหลัง และสามารถดัดแปลงให้สามารถใส่ปุ๋ยรองพื้น พร้อมปลูกได้เลย ปัจจุบันมีการใช้เครื่องปลูกทั้งแบบแถวเดี่ยวและแถวคู่ โดยจะปลูกแถวเดี่ยวระยะแถว 1.4-1.5 เมตร ในกรณีใช้พันธุ์อ้อยที่แตกกอมาก และจะปลูกแถวคู่ ระยะแถว 1.4-1.5 เมตร ระยะระหว่างคู่แถว 20-30 เซนติเมตร ในกรณีใช้พันธุ์อ้อยที่แตกกอน้อย

วิธีการปลูก
วิธีการปลูกอ้อย มี 2 วิธีการใหญ่
1.การปลูกด้วยแรงงานคน แยกออกเป็น 2 วิธี คือ
-การปลูกอ้อยเป็นท่อน
-การปลูกอ้อยทั้งลำ
2.การปลูกด้วยเครื่องจักร นิยมใช้ในกรณีที่ชาวไร่อ้อยมีพื้นที่ปลูกอ้อยมาก และมีเงินลงทุน การใช้เครื่องจักรสามารถยกร่องแล้วปลูกได้ และไม่จำเป็นต้องยกร่องไว้ก่อน

การดูแลรักษา
การใส่ปุ๋ยเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะดินที่มีการปลูกอ้อยมานาน ควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยพืชสด เพื่อปรับสภาพทางกายภาพของดินร่วมกับปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีที่ใช้ ควรมีธาตุอาหารครบทั้ง 3 ชนิดคือ ไนโตนเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เช่น ปุ๋ยสูตร 15–15–15 , 16–16–16 และ 12–10–18 เป็นต้น

การกำจัดวัชพืช
การกำจัดวัชพืชเป็นสิ่งจำเป็นในช่วง 3-4 เดือนแรก ถ้าวัชพืชมากจะทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง การกำจัดวัชพืชอาจใช้แรงงานคน แรงงานสัตว์ หรือเครื่องทุ่นแรง เช่น จอบหมุน คราดสปริง รวมถึงการใช้สารเคมี ซึ่งสารเคมีที่ใช้กำจัดวัชพืชแบ่งเป็น 3 พวก ได้แก่
1.ยาคุม ใช้เมื่อปลูกอ้อยใหม่ๆ ก่อนหญ้าและอ้อยงอก
2.ยาฆ่าและคุมอ้อย ใช้เมื่ออ้อยงอกแล้วและหญ้าอายุไม่เกิน 5 สัปดาห์
3.ยาฆ่าหญ้า ให้เมื่ออ้อยงอกแล้ว และหญ้าโต อายุมากกว่า 6 สัปดาห์

ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร

โรคอ้อย


โรคใบขาว

sugarcanepat1

สาเหตุ เกิดจากเชื้อ ไฟโตพลาสมา
ลักษณะอาการ ใบอ้อยจะ เปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนหรือขาวซีด แคบเรียวเล็กมากกว่าปกติ บางครั้งจะเป็นทางหรือแถบขาวขนาดต่าง ๆกัน เริ่มจากโคนใบขนานไปตามความยาวของใบต่อมาจึงขยายจน เต็มใบอ้อย อ้อยจะแคระแกรน ลําต้นสั้น ปล้องถี่ แตกหน่อมากคล้ายกอตะไคร้ ระยะอ้อยตอจะ แตกเป็นกอสีขาวเป็นฝอย ทําให้ผลผลิตลดลงเกินกว่า 50 % และไว้ตอได้ไม่ดี
การแพร่ระบาด
1.ระบาดไปทางท่อนพันธุ์จากกอที่เป็นโรค
2.ระบาดโดยมีแมลงเป็นพาหะ คือ เพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาล
การป้องกันกำจัด
-ทำลายต้นที่เป็นโรคโดยการขุดออกแล้วเผาทิ้งหรือพ่นด้วยยาฆ่าหญ้า
-คัดหาพันธุ์ที่ทนทานต่อโรค
-ทำการไถดินคราดตอเก่าออกทำลายให้หมด


โรคแส้ดำ

sugarcanepat2

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Ustilago scitaminea
ลักษณะอาการ ส่วนยอดผิดปกติเป็นก้านแข็งยาวคล้ายแส้สีดำ ตออ้อยที่เป็นโรครุนแรงจะแตกหน่อมาก และแคระแกรนคล้ายตอตระไคร้ทุกยอดจะสร้างแส้ดำ แล้วแห้งตายทั้งกอ อ้อยพันธุ์ต้านทานโรคที่ปลูกปีแรกอาจจะมีอาการแส้ดำเพียงบางยอด การเติบโตปกติ ส่วนพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคจะมีอาการลำต้นผอมเรียว ใบเล็กแคบยาวคล้ายต้นหญ้าพง จำนวนลำให้ผลผลิตน้อยมาก ความเสียหายและความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้นในอ้อยตอรุ่นต่อไป
การแพร่ระบาด เชื้อโรคอาศัยอยู่ในทุกส่วนของพืช ติดอยู่กับตอเก่าในแปลง และท่อนพันธุ์ที่เป็นโรค ผงสปอร์จากแส้ดำจะระบาดโดยปลิวติดไปกับลมและฝน นอกจากนั้นเชื้อราจะอาศัยอยู่ในดินที่อยู่ในเขตแห้งแล้งได้นาน
การป้องกันกำจัด
1.เลือกใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น อู่ทอง 1, อู่ทอง 2, อู่ทอง 3
2.ไม่ควรใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่มีโรคระบาด
3.ในพื้นที่ที่มีโรคระบาด ถ้าเลือกใช้พันธุ์ที่ไม่ทราบข้อมูลความต้านทาน ควรแช่ท่อนพันธุ์ในสารเคมี

ที่มา :   กรมส่งเสริมการเกษตร

การนำไปใช้ประโยชน์

1.น้ำตาลทราย น้ำตาลทรายสามารถจำแนกได้ตามประเภทและเกรดของความบริสุทธิ์ของน้ำตาล เป็น4ชนิด ได้แก่
-น้ำตาลทรายดิบ เป็นน้ำตาลทรายที่ได้จากกระบวนการผลิตขั้นต้นโดยผ่านการเคี่ยวและการตกผลึกน้ำตาล
-น้ำตาลทรายดิบคุณภาพสูง เป็นน้ำตาลทรายดิบที่ผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์บางส่วน ทำให้สีของน้ำตาลเป็นสีเหลืองแกมน้ำตาล
-น้ำตาลทรายขาว เป็นน้ำตาลทรายที่ได้จากการนำเอาน้ำตาลทรายดิบมาผ่านกระบวนการเพื่อสกัดเอาสิ่งเจือปนในน้ำตาลทรายดิบออก โดยกระบวนการดังกล่าวจะทำให้น้ำตาลทรายขาวมีความบริสุทธิ์มากขึ้น
-น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เป็นน้ำตาลที่มีความบริสุทธิ์มากกว่าน้ำตาลทรายขาว ลักษณะของเม็ดน้ำตาลเป็นสีขาวใส

2.ผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่ได้จากการผลิตน้ำตาลทราย
-กากน้ำตาล นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้หลายประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตสุราและแอลกอฮอล์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปุ๋ยชีวภาพ ผลิตผงชูรสและน้ำส้มสายชู เป็นต้น
-กากอ้อย เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาลและจำหน่ายไฟฟ้าบางส่วนให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
-กากหม้อกรอง สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยเพื่อการเกษตรที่มีคุณภาพเหมาะสมแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย

3.วัตถุดิบในการผลิตแก๊สโซฮอล์

ที่มา:   กรมส่งเสริมการเกษตร