การปลูกและการดูแลรักษาดาวเรือง


ดาวเรือง เป็นไม้ดอกชนิดหนึ่งที่คนไทยรู้จักกันดี เนื่องจากปลูกง่าย โตเร็ว คงทนต่อสภาพแวดล้อม มีสีสันสดใส สามารถให้ดอกได้ในระยะเวลาอันสั้น ประมาณ 60 - 70 วัน ทำให้นิยมปลูกกันทั่วไป ดาวเรืองที่เห็นกันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าในตลาดหรือตามบ้านเรือนมีอยู่ 2 ชนิด คือ ดอกเล็กกับดอกใหญ่ ชนิดดอกเล็กนิยมปลูกเพื่อใช้ทำพวงมาลัย ทำดอกดาวเรืองแห้ง ส่วนชนิดดอกใหญ่นิยมปลูกเพื่อตัดดอก

ระยะปลูก
การเตรียมแปลงปลูก ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในขณะเตรียมดินไปด้วย ดินปลูกที่เหมาะสมควรเป็นดินที่ระบายน้ำได้ดี เก็บความชื้นได้สูง มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ประมาณ 6.5 - 7.5 แปลงปลูกควรมีขนาดกว้าง 1 เมตร ปลูก 3 แถว ระยะห่างกัน 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 30 เซนติเมตร หากเว้นทางเดิน 80 เซนติเมตร ในพื้นที่ 100 ตารางวา สามารถปลูกดาวเรืองได้ประมาณ 2,200 ต้น

วิธีการปลูก
1. การใช้เมล็ด นำเมล็ดดาวเรืองมาเพาะในกระบะเพาะซึ่งมีวัสดุเพาะ คือ ขุยมะพร้าว ทราย ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยคอก
2. การปักชำ เป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยมทำกันเพราะได้จำนวนน้อย แต่ที่ทำกันเพราะเป็นผลพลอยได้จากการเด็ดส่วนยอดที่มีความยาว 1 - 2 นิ้ว นำไปปักชำในกระบะพลาสติก แต่ต้องพยายามรักษาความชุ่มชื้นให้มากที่สุด ไม่ให้ยอดหรือใบเหี่ยว จะออกราก ภายใน 7 - 10 วัน ดอกที่ได้จะมีสีเหมือนเดิม แต่ขนาดดอกอาจจะเล็กกว่าเดิม ซึ่งเป็นการประหยัดการซื้อพันธุ์ได้ส่วนหนึ่ง

การดูแลรักษา
เมื่อดาวเรืองมีอายุ 15 วัน และ 25 วัน ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15–15 ในอัตรา 1 ช้อนชาต่อต้น และใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 ในอัตรา 1 ช้อนชาต่อต้น เมื่อดาวเรือง อายุ 35 และ 45 วัน วิธีใส่ปุ๋ยนั้นจะใช้วิธีการฝังลงในดินตื้น ๆ ประมาณครึ่งนิ้ว ห่างโคนต้นประมาณ 6 นิ้ว เสร็จแล้วรดน้ำให้โชกทุกครั้งที่มีการใส่ปุ๋ย ควรมีการพรวนดินรอบ ๆ โคนต้นแล้วกลบที่โคนต้นไว้ เนื่องจากดาวเรืองมักมีรากแตกออกจากโคนต้นอีก

การกำจัดวัชพืช
การกำจัดวัชพืช ใช้วิธีกล จะใช้วิธีการถางหญ้า ซึ่งจะไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าในแปลงปลูกดาวเรืองเลย เพราะว่าต้นดาวเรืองอ่อนแอต่อละอองยาฆ่าหญ้า

ที่มา:   กรมส่งเสริมการเกษตร

โรคดาวเรือง


โรคเหี่ยว

marigoldpat1

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Fusarium sp.
ลักษณะอาการ
เชื้อราจะเข้าทำลายท่อน้ำ ท่ออาหารของดาวเรือง ทำให้ต้นแสดงอาการเหี่ยว ใบเหลืองจากโคนต้น และจะลามไปสู่ส่วนยอด ภายใน 2-3 วัน ต้นดาวเรืองจะเหี่ยวตายในที่สุด มักจะเกิดกับดาวเรืองที่โตเต็มที่ กำลังออกดอก
การแพร่ระบาด เชื้อราที่สะสมอยู่ในดินบริเวณแปลงปลูกจะเข้าทำลายระบบราก ในขณะที่ดาวเรืองอ่อนแอ เชื้อราที่ติดตามกับเครื่องปลูกหรือดินปลูก สามารถแพร่กระจายได้โดยกระเด็นไปกับน้ำที่รด หรือไหลไปกับน้ำฝน
การป้องกันกำจัด
1.ปรับปรุงดินที่ปลูกให้เหมาะสมดีมี pH ประมาณ 5.5 บำรุงดินด้วยปุ๋ยดอก
2.ไม่ปลูกซ้ำที่เดิม หรือปลูกพืชหมุนเวียน
3.เมื่อดาวเรืองเริ่มแสดงอาการให้ใช้น้ำปูนใสผสมน้ำรดแทนน้ำ
4.ถอนต้นที่แสดงอาการชัดเจน เผาทำลายนอกแปลง


โรคใบจุด

marigoldpat2

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Alternaria sp.
ลักษณะอาการ จะพบว่าส่วนใบของดาวเรืองเป็นจุดค่อนข้างกลม ภายนอกจุดสีม่วงเข้ม ภายในจุดสีน้ำตาลอ่อน หากเกิดการระบาดมากจะทำให้พืชสังเคราะห์แสงได้น้อยลง ส่งผลให้ต้นโทรมอย่างรวดเร็ว ทำให้ดอกเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ พบว่าเชื้ออัลเทอนาเรียสามารถเข้าทำลายส่วนของลำต้นได้อีกด้วย โดยลักษณะอาการจะคล้ายกับที่เกิดที่ใบ คือ เป็นจุดภายนอกค่อนข้างกลม ภายในจุดสีน้ำตาลอ่อน ชื่อของโรคนี้อาจเรียกแต่ต่างกันไปตามส่วนของดาวเรืองที่เกิดอาการ เช่น โรค เกิดที่ใบเรียก ใบจุด (leaf spot)โรคเกิดที่ลำต้น เรียกลำต้นจุด (stem spot)
การแพร่ระบาด เชื้อราระบาดมากโดยเฉพาะช่วงฤดูฝน
การป้องกันกำจัด
ควรบำรุงรักษาต้นดาวเรืองให้มีความแข็งแรงอยู่เสมอ เพราะว่าถ้าต้นดาวเรืองมีความแข็งแรง ก็ยากที่โรคพืชจะเข้าทำลาย ต้นดาวเรืองเมื่อเริ่มพบอาการของโรคใบจุด ให้รีบตัดแต่งส่วนของใบ ดาวเรืองที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูกดาวเรืองแล้วนำไปเผาทำลาย เพื่อป้องกันแหล่งของเชื้อโรคในการแพร่ระบาดและควรทำความสะอาดแปลงอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมโรค

ที่มา :   กรมส่งเสริมการเกษตร

การนำไปใช้ประโยชน์


ดาวเรืองเป็นไม้ดอกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากชนิดหนึ่ง นอกจากจะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆได้อีกด้วย การนำดาวเรืองไปใช้ประโยชน์สรุปได้ดังนี้

1.ปลูกประดับเพื่อความสวยงาม ดาวเรืองเป็นไม้ดอกที่มีความสวยงาม กลีบดอกสีเหลืองเรียงอัดกันแน่น และมีอายุการใช้งานนาน ดังนั้นจึงเหมาะ สำหรับปลูกเพื่อประดับอาคารบ้านเรือนและ สถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินตา สบายใจ

2.ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันแมลง เนื่องจากดาวเรืองเป็นสารที่มีกลิ่นเหม็น (ฉุน) แมลงไม่ชอบ จึงสามารถใช้เป็น เกราะป้องกันแมลงให้แก่พืชอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้รากของดาวเรืองยังมีสารชนิดหนึ่ง ที่ช่วยลดปริมาณไส้เดือนฝอยในดินได้

3.ปลูกเพื่อจำหน่าย
3.1 ใช้ทำพวงมาลัย ปัจจุบันนิยมนำดาวเรืองมาร้อยพวงมาลัยกันมาก ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัยไหว้พระ หรือพวงมาลัยสำหรับคล้องคอในงานพิธีต่าง ๆ การตัดดอกดาวเรือง สำหรับใช้ประโชน์ในด้านนี้จะต้องให้มีก้านดอกสั้น หรือเหลือเฉพาะดอก
3.2 ใช้ปักแจกัน เนื่องจากดาวเรือง เป็นไม้ดอกที่มีลักษณะกลมเรียงตัวกันแน่นเป็นระเบียบและมีสีสันสวยงาม จึงมีคนนิยมนำมาปักแจกันมาก ไม่ว่าจะเป็นแจกันตั้งตามโต๊ะรับแขก ตามหิ้งพระ หรือแจกันประกอบโต๊ะหมู่บูชา การตัดดอกดาวเรืองเพื่อนำมาปักแจกันนี้ควรตัดให้มีก้านดอกยาวประมาณ 18-20 นิ้ว มัดดอกดาวเรืองเป็นกำ ๆ แล้วใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อเพื่อให้ดอกดาวเรืองคงความสดอยู่ได้นาน ๆ
3.3 การปลูกลงกระถางหรือถุงเพื่อประดับอาคารสถานที่ ปัจจุบันมีการนำกระถางหรือถุงดาวเรืองมาประดับอาคาร สถานที่กันมากขึ้น เพราะสามารถใช้ประดับไว้เป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานนิทรรศการ งานพระราชทานปริญญาบัตร หรือแม้แต่งานพิธีตามอาคาร บ้านเรือน การปลูกดาวเรืองเพื่อใช้ประโยชน์ ในด้านนี้ก็เหมือนกับการปลูกดาวเรือง โดยทั่วไป เพียงแต่เป็นการปลูกลงในกระถาง หรือถุง แทนที่จะปลูกลงในแปลงดอก ดาวเรืองเริ่มบานก็นำไปใช้ประโยชน์หรือจำหน่ายได้
3.4 จำหน่ายให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากดาวเรืองเป็นพืชที่มีสารแซธโธฟีล (Xanthophyll) สูง เมื่อตากให้แห้งจะสามารถนำไปเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ได้ดี โดยเฉพาะอาหารของไก่ไข่ จะทำให้ไข่แดงมีสีแดงสดใสน่ากินยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพันธุ์ที่มีดอกสีส้มแดง



ที่มา :   กรมส่งเสริมการเกษตร