การปลูกและการดูแลรักษากล้วยไม้


กล้วยไม้ เป็นพืชวงศ์ใหญ่ที่มีดอกสวยงาม มีความหลากหลายทั้งสีสันลวดลาย ขนาด รูปทรง และกลิ่น เรียกได้ว่าเป็นพืชดอกที่มีความหลากหลายมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง มีมากกว่า 800 สกุล พบในธรรมชาติมากกว่าสองหมื่นชนิด ด้วยความสวยงามและความหลากหลายทำให้กล้วยไม้เป็นที่นิยมไปทั่วโลก มีการปรับปรุงสายพันธุ์โดยการผสมข้ามชนิดข้ามสกุลมากกว่าสามหมื่นคู่ผสม ทำให้กล้วยไม้มีความสวยงามและหลากหลายมากยิ่งขึ้น

การปลูก
การเลือกทำเลปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อตัดดอกขายนั้นควรใกล้แหล่งน้ำที่สะอาด pHของน้ำประมาณ 5.2 มีสภาพอากาศดี การคมนาคมสะดวกเพื่อความรวดเร็วในการขนส่งดอกกล้วยไม้ ซึ่งเสียหายได้ง่าย การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ให้ได้ดอกที่มีคุณภาพดีนั้นนอกจากต้องมีการดูแลที่ดีมีการให้ปุ๋ย ฉีดยาป้องกัน โรค และแมลงในระยะที่เหมาะสมแล้วยังจำเป็นต้องมีโรงเรือนที่ดีด้วย

การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์โดยไม่มีการผสมเกสร
หมายถึงการนำส่วนใดส่วนหนึ่งของกล้วยไม้ที่ไม่ใช่ผลจากการผสมเกสรไป ขยาย พันธุ์ เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก การขยายพันธุ์วิธีนี้จะได้ต้นใหม่ที่มีสายพันธุ์เหมือนต้นพันธุ์เดิมทุก ประการ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับการขยายพันธุ์กล้วยไม้ต้นที่มีคุณลักษณะดีอยู่แล้ว เช่น มีความสวยงามเป็นพิเศษ หรือมีลักษณะที่เหมาะสมแก่การเป็นกล้วยไม้ตัดดอก
การตัดแยกกล้วยไม้ประเภทแตกกอ
กล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตแบบประเภทแตกกอ เช่น หวาย แคทลียา เมื่อหน่อหรือลูกกล้วยใดผลิดอกและต้นเริ่มร่วงโรย หน่อนั้นจะแตกหน่อใหม่ออกมาทดแทนทำให้กอแน่นขึ้น หากปล่อยให้กอแน่นเกินไปกล้วยไม้อาจทรุดโทรมเพราะมีธาตุอาหารไม่เพียงพอ เมื่อเห็นกอแน่นควรตัดแยกไปปลูกใหม่จะได้ประโยชน์ 2 ทาง คือ ได้กล้วยไม้เพิ่มขึ้นและทำให้กล้วยไม้เจริญงอกงามดี การตัดแยกกล้วยไม้ไม่ควรทำในช่วงที่กล้วยไม้พักตัวในช่วงฤดูหนาว ควรทำในช่วงต้นฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่ต้นไม้เจริญเติบโตดีและแตกหน่อใหม่ เครื่องมือที่ใช้ในการขยายพันธุ์คือมีดและปูนแดง

การดูแลรักษา
การให้น้ำ
น้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ต้องเป็นน้ำที่มีคุณภาพดี มีปริมาณแร่ธาตุไม่สูงเกินไปเพราะจะเป็นพิษต่อระบบรากทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ควรรดในเวลาเช้าหรือบ่าย โดยใช้สายยางต่อกับหัวฉีดแบบฝอยละเอียด ลดการกระแทกที่ทำให้ดอก ใบช้ำ แต่ในช่วงที่มีฝนตกหนักควรงดการให้น้ำ 2-3 วัน ถ้าเป็นฤดูร้อนหรือฤดูหนาวควรรดน้ำให้บ่อยขึ้น

การใส่ปุ๋ย
ให้ปุ๋ยทุก ๆ 7 วัน โดยใช้ปุ๋ยละลายน้ำสูตรสูง เช่น สูตร 20-20-20 ในระยะเริ่มปลูกควรให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพื่อช่วยการเจริญเติบโตทางลำต้น และใบเมื่อต้นกล้วยไม้เจริญถึงระยะให้ดอกหรือต้องการเรงให้ออกดอก ควรใช้ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุฟอสฟอรัสสูง
ไม่ควรฉีดพ่นปุ๋ยในช่วงที่มีแดดจัดเพราะจะทำให้น้ำที่ละลายปุ๋ยระเหยไปอย่างรวดเร็วทำให้กล้วยไม้ไม่สามารถดูดปุ๋ยไปใช้ได้และยังทำให้ความเข้มข้นของปุ๋ยสูงขึ้น อาจทำให้ใบไหม้หลังจากให้ปุ๋ ยแล้ว ในวันรุ่งขึ้นต้องรดน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชะล้างเกลือแร่ของปุ๋ยที่ตกค้างอยู่บนเครื่องปลูกและรากออก
นอกจากการให้ปุ๋ยแล้ว ผู้ปลูกเลี้ยงต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและยาป้องกันโรคอย่างสม่ำเสมออาจให้พร้อมๆ กับการรดน้ำหรือให้ปุ๋ย หากมีการระบาดของโรคและแมลงก็ต้องเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับโรคและแมลงชนิดนั้นๆ

ที่มา:   กรมส่งเสริมการเกษตร

โรคกล้วยไม้


โรคแอนแทรคโนส

orchidpat1

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Colletotrichum sp.
ลักษณะอาการ
อาการส่วนใหญ่เกิดที่ใบ เป็นแผล รูปวงกลมหรือวงรีสีน้ำตาลไหม้ ซึ่งขยายออกเป็นวงใหญ่เห็นเป็นวงกลมซ้อนกันหลายชั้น ถ้าเป็นที่กลางใบจะเห็นแผลค่อนข้างกลมถ้าเกิดที่ปลายใบ แผลจะลามมาที่โคนใบกล้วยไม้ที่ใบอวบน้ำมาก เช่น แคทลียา ใบจะเน่าถ้าฝนตกชุก โดยปกติจะเป็นแผลแห้งติดกับลำต้น บางคนเรียกโรคนี้ว่า “โรคใบไหม้”
การแพร่ระบาด โรคแอนแทรคโนส มักเกิดบนแผลใบกล้วยไม้ ที่ถูกแดดจัด เชื้อสาเหตุอาจลุกลามไปยังดอกได้ด้วยเชื้อนี้ชอบความชื้นสูงพบระบาดมากในช่วงฤดูฝน
การป้องกันกำจัด
1.อย่าให้กล้วยไม้ถูกแดดจัดเพราะจะทำให้ใบไหม้สุก และทำให้เกิดแผล ควรทำร่มเงาขึ้นปกคลุมและระวังการให้น้ำขณะแดดจัด จะทำให้เซลพืชอ่อนแอ เชื้อเข้าทำลายได้ง่าย
2.พยายามตัดใบที่เป็นโรคเผาทำลายทิ้งให้มากที่สุด เพื่อลดจำนวนเชื้อและป้องกันการลุกลาม
3.ฉีดพ่นด้วยสารเคมี


โรคเน่าดำหรือโรคเน่าเข้าไส้



orchidpat2

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora
ลักษณะอาการ
1.จากที่ยอดใบเริ่มแรก จุดใส ชุ่มน้ำ สีเหลือง ต่อมาสีจะเปลื่ยนเป็นน้ำตาล แล้วเป็นสีดำ ในที่สุดแผลขยายลุกลามอย่างรวดแพร่กระจายไปยังต้นอื่นๆ
2.อาการที่ต้นที่ถูกเชื้อเข้าทำลาย ทางยอดลงมาหรือโคนต้นเมื่อดมดูจะมีกลิ่น เปรี้ยว คล้ายกลิ่นน้ำส้มสายชู ใบเหลืองและเน่าดำ หลุดจากต้นโดยง่ายหรือเรียกว่าเป็น “โรคแก้ผ้า”
การแพร่ระบาด ระบาดได้ง่ายในช่วงฤดูฝนในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงสปอร์ของเชื้อราจะแพร่กระจายไปกับน้ำที่ใช้รดต้นไม้
การป้องกันกำจัด
1.เผาทำลายต้นที่เป็นโรคทิ้ง
2.ตัดแยกส่วนที่ยังไม่ติดเชื้อ ควรฆ่าเชื้อกรรไกรทีใช้ตัด ด้วยการลนไฟ หรือจุ่มแอลกอฮอล์ เมื่อตัดแล้วก็ทาด้วยปูนแดง เพื่อกันเชื้อโรคเข้า
3.ใช้ยาป้องกันเชื้อรารดอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง
4.ควรฉีดพ่นยาช่วงเย็นหลังพระอาทิตย์ตก จนถึงค่ำ

ที่มา :   กรมส่งเสริมการเกษตร

การนำไปใช้ประโยชน์


ลักษณะของการใช้ประโยชน์กล้วยไม้ส่วนใหญ่นําไปใช้ประดับอาคารสถานที่ โรงแรม ใช้ตกแต่งในพิธีการต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานสังสรรค์ ต่างๆ รวมทั้งเป็นของขวัญ นอกจากนั้น การใช้ประดับจานอาหารตามร้านอาหาร ภัตตาคาร เป็นที่นิยมมากขึ้น

กล้วยไม้ เป็นไม้ดอกที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความสวยงามและเป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนทั่วไป ซึ่งไม่เพียงแต่นิยมปลูกประดับตามบ้านเรือนเท่านั้น แต่ยังนิยมปลูกในเชิงการค้าด้วย ทั้งการเพาะพันธุ์เพื่อขายต้น การตัดดอกขายเพื่อนำไปจัดกระเช้าหรือช่อดอกไม้ และในปัจจุบันยังมีการวิจัยเพื่อสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยจากกล้วยไม้ป่าบางชนิดเพื่อนำไปแปรรูปเป็นน้ำมันหอมระเหยและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอีกด้วย

นอกจากการผลิตน้ำมันหอมระเหยแล้ว ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอางที่ใช้บำรุงผิวอีก 2 ผลิตภัณฑ์ด้วย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าช่วงกลางคืนและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวรอบดวงตา



ที่มา :   มหาวิทยาลัยบูรพา