การปลูกและการดูแลรักษามันฝรั่ง
การเตรียมดิน
การเตรียมดินให้ไถดินลึกอย่างน้อย 20 เซนติเมตร ตากดินไว้ก่อนปลูก 10-15 วัน หากดินเป็นกรดมากควร ใช้โดโลไมท์หว่านให้ทั่วแปลง อัตรา 200-500 กิโลกรัม/ไร่ ขึ้นอยู่กับระดับความเป็นกรดของดิน (ค่า pH ที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 5.5-6.5) จากนั้นไถพรวนอีก2-3 ครั้ง เพื่อให้ดินร่วนซุยดี จึงยกร่องหรือยกแปลงปลูก
ระยะปลูก
การยกแปลงปลูกแบบแถวคู่ จะยกแปลงปลูกขนาดกว้าง 1-1.2 เมตร ยาวตามพื้นที่ ขุดหลุมปลูกแถวคู่บนหลังแปลง ระยะระหว่างแถว 40-80 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 30-40 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก 800-1000 กิโลกรัม/ไร่ และปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 150 กิโลกรัม/ไร่ รองก้นหลุมวางหัวพันธุ์ลงในหลุมแล้วกลบดินหนา 5-10 เซนติเมตร ไถกลบดินในแปลง 2รอบ
วิธีการปลูก
สามารถปลูกทั้งหัว หรือผ่าหัวพันธุ์ออกเป็นชิ้น ๆ การปลูกทั้งหัวจะมีข้อดี คือ จะมีอาหารสะสมที่จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตได้ดีกว่า และผลผลิตจะสูงกว่าการปลูกด้วยหัวพันธุ์ที่ผ่าเป็นชิ้น แต่ข้อเสีย คือ สิ้นเปลืองหัวพันธุ์มากอาจถึงประมาณ 400 กิโลกรัมต่อไร่ แต่เมื่อผ่าหัวพันธุ์ปลูกจะใช้ประมาณ 100-150 กิโลกรัมเท่านั้น แต่การผ่าหัวพันธุ์ก็มีข้อเสีย คือ จะทำให้เชื้อโรคเข้าทำลายและเน่าเสียได้ง่าย มีโอกาสติดโรคจากหัวพันธุ์ที่เป็นโรคไปยังหัวพันธุ์ที่ดี โดยติดไป กับมืดที่ใช้ผ่าได้ง่าย ดังนั้นจึงควรปฏิบัติในการผ่าหัวพันธุ์มันฝรั่ง ดังนี้
วิธีการผ่าหัวพันธุ์ เมื่อหัวพันธุ์เริ่มแตกตาข้างพอสังเกตเห็นได้ก็พร้อมที่จะนำไปผ่าได้ ควรผ่าหัวพันธุ์ก่อนปลูกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ การผ่าใช้มีดคมชุบแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ผ่ากลางหัวแบ่งครึ่งตามยาว โดยผ่าจากด้านท้ายไปด้านหัว จากนั้นตัดแบ่งเป็นชิ้น ๆ ตามแนวยาวและแนวตั้งให้ 1 ชิ้น มีตาอยู่อย่างน้อย 1 ตา หลังจากผ่าเสร็จแต่ละหัว ควรจุ่มใบมีดในแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ก่อนที่จะผ่าหัวต่อไป เพื่อป้องกันการติดโรค
นำหัวพันธุ์ที่ผ่าแล้วไปแช่ยาฆ่าเชื้อรา แช่นาน 5 นาที แล้วนำไปผึ่งให้แห้ง จากนั้นนำไปเพาะในแปลงเพาะที่ใช้ทรายหรือขี้เถ้าแกลบเป็นวัสดุเพาะ โดยเกลี่ยทรายให้เรียบหนาประมาณ 3-5 เซนติเมตร นำหัวพันธุ์มาวางเรียงบนแปลงเพาะ โดยวางส่วนตาอยู่ด้านล่างกลบด้วยทรายบาง ๆ หนาประมาณ 1 เซนติเมตร รดน้ำให้ชื้นอยู่เสมอระวังอย่าให้เปียกแฉะหรือน้ำขัง หลังจากชำประมาณ 1 สัปดาห์ หน่อจะงอกยาว 1-2 เซนติเมตร นำไปปลูกได้
การดูแลรักษา
ในการใส่ปุ๋ยนั้น ควรจะใส่ทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี การใส่ปุ๋ยควรคำนึงถึงความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ใช้ปลูกมันฝรั่งว่ามีธาตุอาหารอยู่แล้วมากน้อยเพียงใด โดยการนำดินไปตรวจวิเคราะห์ แล้วจึงพิจารณาใช้ชนิดและอัตราปุ๋ยที่เหมาะสมตามค่าวิเคราะห์ดิน ทั้งนี้ควรแบ่งการใส่ปุ๋ยให้มันฝรั่งเป็น 3 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่1 ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 100 -150 กิโลกรัม/ไร่ โดยใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก
ครั้งที่2 เมื่อมันฝรั่งอายุได้ 15-20 วัน ใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ โดยใส่เป็นแถวข้างต้นพร้อมกับพูนดินกลบโคนต้นสูงประมาณ 20-25 เซนติเมตร เนื่องจากหัวมันฝรั่งเกิดจากลำต้นใต้ดินที่เรียกว่าไหล ซึ่งงอกออกมาจากส่วนโคนของลำต้น ตรงส่วนปลายของไหลนี้จะพองตัวออกทำหน้าที่เก็บสะสมอาหารเป็นหัวมันฝรั่ง แต่ถ้าไหลนี้เกิดโผล่พ้นดินขึ้นมาก็จะเจริญเป็นลำต้นมีใบตามปกติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพูนดินกลบโคนต้นเพื่อให้มีการลงหัวดีรวมทั้ง เป็นการป้องกันไม่ให้หัวมันฝรั่งถูกแสงแดด ซึ่งจะทำให้หัวเกิดสีเขียว ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดหรือโรงงาน
ครั้งที่3 เมื่อมันฝรั่งอายุได้ 30 วัน ใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมซัลเฟต อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ โดยใส่โรยเป็นแถวพร้อมกับพูนดินกลบโคนอีกครั้งหนึ่ง
การกำจัดวัชพืช
ควรทำการกำจัดวัชพืชไปพร้อมกับการใส่ปุ๋ยและพูนโคน การพ่นสารเคมีคุมการงอกของเมล็ด ฉีดพ่นหลังจากปลูกมันฝรั่งเสร็จก่อนงอก จะลดปริมาณวัชพืชลงได้มาก ช่วงที่มันฝรั่งลงหัวแล้วไม่ควรพรวนดินกำจัดวัชพืช จะทำให้หัวมันฝรั่งได้รับการกระทบกระเทือน ทำให้หัวเกิดรอยแผลได้
ที่มา: สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โรคมันฝรั่ง
โรคใบไหม้

สาเหตุ เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอรา
ลักษณะอาการ ใบเป็นจุดชํ้า คล้ายถูกนํ้าร้อนลวก บริเวณแผลเป็นสีเขียวหม่น ถ้าอากาศเย็นและความชื้นสูง ด้านใต้ใบตรงจุดชํ้านี้จะมองเห็นคล้ายเป็นละอองนํ้าเล็กๆ สีขาวใสติดอยู่ ต่อมาแผลจะค่อยๆ แห้ง กลายเป็นสีนํ้าตาลและขนาดของแผลจะขยายใหญ่ขึ้นจนเกือบจะทั่วใบ จนใบแห้งไหม้เป็นสีนํ้าตาล (ไหม้แบบฉํ่านํ้า) และจะลุกลามอย่างรวดเร็ว จึงมักมองเห็นการเกิดโรคกระจายเป็นหย่อม ๆ ทั้งลําต้นและกิ่ง และยังทําลายที่หัวทําให้เกิดอาการหัวเน่าในภายหลัง
การแพร่ระบาด
เชื้อราไฟทอปธอร่า ซึ่งอาศัยอยู่ในเศษซากพืชที่เป็นโรคและต้นพืชที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยว การระบาดเกิดจากสปอร์ถูกพัดพาหรือถูกทำให้แพร่กระจาย ไปโดยลม น้ำฝน แมลง และเครื่องมือต่างๆ
การป้องกันกำจัด
1.ลดความชื้นในแปลงปลูก โดยใช้ระยะปลูกที่ห่างออกไปอีกเล็กน้อย และอย่าให้นํ้ามากเกินไป ควรหลีกเลี่ยงการให้นํ้าในตอนเย็น เพราะอากาศเย็นจะทําให้เกิดโรคมากขึ้น
2.ควรถอนต้นที่เป็นโรคทิ้ง และเผาทําลายทันที เพื่อลดการขยายพันธุ์ และลดการแพร่ระบาด ของเชื้อต่อไป
3.ควรหลีกเลี่ยงการปลูกมันฝรั่งในบริเวณที่เคยปลูกมะเขือเทศมากก่อน หรือไม่ควรปลูกมันฝรั่ง ซํ้าในบริเวณที่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน
4.เมื่อสภาพอากาศเย็นค่อนข้างหนาวและความชื้นสูง ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการแพร่ ระบาดของโรค หากพบว่าโรคเริ่มระบาด ใหม่ ให้พ่นสารเคมีป้องกันการแพร่ระบาด
ที่มา : กรมวิชาการเกษตร
การนำไปใช้ประโยชน์
มีการนำมันฝรั่งมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าและยืดอายุของมันฝรั่ง เช่น
-มันฝรั่งทอดชนิดแผ่น
-มันฝรั่งทอดแบบเฟร้นช์ฟรายด์
-แป้งมันฝรั่งและมันฝรั่งแห้ง
-แป้ง กระบวนการผลิตเช่นเดียวกับแป้งมันสําปะหลัง แต่ ไม่ต้องปอกเปลือก เนื่องจากมันฝรั่งมีผิวบาง
-แป้งดัดแปร
ที่มา: คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้า