ยางพารา

การปลูกและการดูแลรักษายางพารา

ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการปลูกยางพารา เฉพาะอย่างยิ่งทางภาคใต้และบางจังหวัดของภาคตะวันออก แต่เนื่องจากยางพาราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆได้ดี จึงสามารถปลูกยางพาราได้ในเกือบทุกภาคของประเทศ

การเตรียมดิน
ยางพาราสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนเหนียวหรือดินร่วนทราย เป็นพื้นที่ไม่มีน้ำท่วมขังและการถ่ายเทอากาศดี ทำการเตรียมพื้นที่สำหรับปลูก โดยการใช้วิธีการไถ จำนวน 2 ครั้ง พรวนดินอีก 1 ครั้ง ส่วนพื้นที่ที่ยังมีตอไม้ยางเก่าหรือตอไม้อื่นหลงเหลืออยู่ อาจจะทำให้การเตรียมดินสำหรับการปลูกไม่สะดวกมากนัก แต่หากเป็นกรณีที่เป็นพื้นที่ที่จะปลูกมีความลาดเทมาก เช่น พื้นที่บริเวณควนหรือเนิน จะต้องมีการจัดทำพื้นที่เป็นขั้นบันไดหรือทำการต้านดิน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้น้ำฝนชะล้างดินเหล่านั้นให้ไหลตามน้ำ การทำพื้นที่เป็นขั้นบันไดอาจทำเฉพาะในลักษณะของต้นหรือยาวเป็นแนวเดียวกัน หรืออาจจะจะทำพี้นที่ในลักษณะเป็นวงรอบไปตามลักษณะของควนหรือเนินก็ได้ โดยให้ระดับขนานกับพื้นดิน และความกว้างของขั้นบันไดอย่างน้อยกว้าง 1.5 เมตร และแต่ละขั้นบันไดก็ใช้วิธีการตัดดินให้มีความลึกและเอียงเข้าไปในทางเป็นเนินดิน โดยให้บริเวณขอบด้านนอกของขั้นบันไดเป็นลักษณะคันดิน มีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ความกว้าง 60-70 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างขั้นบันไดมีความกว้างระหว่าง 8-10 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความลาดชันของควนหรือเนิน หากมีความชันมากระยะระหว่างขั้นบันไดก็ควรจะห่างออกไปด้วย

ระยะปลูก
ระยะปลูกยางพารามีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง สามารถใช้พื้นที่ปลูกยางได้อย่างคุ้มค่า ประหยัดในเรื่องการกําจัดวัชพืช ต้นยางเปิดกรีดได้เร็ว สวนยางมีลักษณะสวยงาม เป็นระเบียบ สะดวกต่อการปฏิบัติงาน ต้นยางจะเจริญเติบโตได้ดีที่สุดต้องมีพื้นที่ต่อต้นไม่น้อยกว่า 20 ตารางเมตร ระยะปลูกที่เหมาะสมสําหรับการปลูกยางพารา ในพื้นที่ราบเขตปลูกยางเดิมควรเป็น 2.5x8 เมตร หรือ 3x7 เมตร มีจํานวนต้นยาง 80 ต้น หรือ 76 ต้นต่อไร่ ตามลําดับ สําหรับการปลูกยางในเขตปลูกยางใหม่ควรเป็น 2.5x7 เมตร หรือ 3x7 เมตร มีจํานวนต้นยาง 91 ต้น หรือ 76 ต้นต่อไร่ ตามลําดับ สําหรับระยะปลูกยางในพื้นที่ลาดเทควรเป็น 3x8 เมตร มีจํานวนต้นยาง 67 ต้นต่อไร่

วิธีการปลูก
วิธีการปลูกยางพารามี 3 วิธี คือ
1.การปลูกด้วยเมล็ดสด
2.การปลูกด้วยเมล็ดงอก
3.การปลูกด้วยกล้ายาง 2 ใบ

การดูแลรักษา
การใส่ปุ๋ย เมื่อต้นกล้ายางตั้งตัวได้ควรใส่ปุ๋ยเป็นระยะเพื่อให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรงและสมบูรณ์ติดตาได้เร็ว ปุ๋ยที่ใช้สำหรับต้นกล้ายางควรเป็นดังนี้ สำหรับดินร่วนปนทราย ใช้ปุ๋ยสูตร 3(16-8-14) สำหรับดินร่วนปนเหนียวใช้ปุ๋ยสูตร 1(18-10-6) ระยะเวลาในการใส่โดยแบ่งใส่เป็น 4 ครั้ง คือเมื่อยางอายุ 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน และก่อนติดตา 1 เดือน โดยใช้อัตรา 36 กิโลกรัมต่อไร่ หรือประมาณ 15 กรัมต่อช่วงระยะ 1 เมตร ในแถวคู่ ส่วนวิธีการใส่ การใส่ใน 2 ครั้งแรกโดยวิธีหว่านปุ๋ยเป็นแถบกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร ในระหว่างแถวคู่ แล้วคราดกลบเพื่อให้ปุ๋ยคลุกเข้ากับดิน และการใส่ในครั้งต่อไปควรใช้วิธีการหว่านให้ทั่วแปลงโดยระวังไม่ให้ถูกใบอ่อนกล้ายาง

การกำจัดวัชพืช
1.ใช้จอบถากหรือแทรกเตอร์ไถ วิธีนี้เกษตรกรนิยมใช้มาก แต่มีข้อเสียคือจะกระทบกระเทือนต่อราก ทำให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต
2.ใช้วิธีปลูกพืชคลุมดิน โดยนำเมล็ดพืชคลุมดินแต่ละชนิดมาผสมกันแล้วนำไปปลูกโดยใช้เมล็ดพืชคลุมดินในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ปลูกยาง 1 ไร่ ยกเว้นในท้องที่แห้งแล้งใช้อัตรา 1.5 กิโลกรัมต่อไร่
3.การใช้สารเคมี เป็นวิธีที่ให้ผลดี ประหยัดแรงงาน และเวลา นิยมใช้กับต้นยางที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป หรือต้นยางที่มีเปลือกบริเวณโคนต้นเป็นสีน้ำตาลสูงจากพื้นดินมากกว่า 75 เซนติเมตรไปแล้ว ส่วนต้นยางที่มีเปลือกบริเวณโคนต้นเป็นสีน้ำตาลสูงจากพื้นดินน้อยกว่า 75 เซนติเมตร ไม่ควรใช้วิธีนี้

ที่มา :   กรมวิชาการเกษตร

โรคยางพารา


โรคราแป้ง

rubberpat1

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา
ลักษณะอาการ ใบอ่อนร่วง ใบที่ไม่ร่วง แผ่นใบจะมีแผลขนาดไม่แน่นอน มีเชื้อราสีขาวเทาปกคลุมอยู่ ต่อมาแผลจะเป็นรอยด่าง สีเหลืองซีดและกลายเป็นสีน้ำตาล ดอกยางมีปุยเชื้อราปกคลุมก่อนที่จะดำแล้วร่วง
การแพร่ระบาด ระบาดมากในพื้นที่ที่สภาพแวดล้อมกลางวันร้อน กลางคืนเย็นและชื้น ตอนเช้ามีหมอก พบในช่วงที่ต้นยางผลิใบใหม่
การป้องกันกำจัด ปลูกยางพันธุ์ต้านทานโรค หากระบาดฉีดพ่นด้วยสารเคมี


โรคใบจุดนูน

rubberpat2

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides
ลักษณะอาการ ใบอ่อนที่ถูกเชื้อเข้าทำลาย ปลายใบจะบิดงอ เหี่ยวเน่าดำและหลุดร่วง ในระยะใบเพสลาด ใบบางส่วนอาจบิดงอและพบจุดแผลสีน้ำตาล ขอบแผลสีเหลือง ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร เมื่อใบมีอายุมากขึ้น เนื้อตรงกลางแผลอาจทะลุเป็นรู ถ้าระบาดรุนแรงอาจพบแผลบนกิ่งอ่อนหรือยอดอ่อน และทำให้เกิดอาการตายจากยอดได้
การแพร่ระบาด ระบาดรุนแรงกับยางที่แตกใบอ่อน ในช่วงที่ฝนตกชุก ความชื้นสูง เชื้อแพร่ระบาดโดยน้ำฝน ลมและแมลง
การป้องกันกำจัด ต้นยางที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ใช้สารเคมีพ่นบนใบยางเมื่อเริ่มพบการระบาด

ที่มา :   กรมวิชาการเกษตร

การนำไปใช้ประโยชน์

“อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง” เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านของการจ้างงานและการส่งออก โดยในด้านการจ้างงานมีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม กว่า 200,000 คน และเกี่ยวข้องกับเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 6 ล้านคนในอุตสาหกรรมต้นน้ำ สำหรับในด้านการส่งออกประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางธรรมชาติหรือยางแปรรูปขั้นต้นรายใหญ่ที่สุด คิดเป็น 1ใน3 ของการผลิตยางพาราในตลาดโลก ซึ่งผลผลิตยางธรรมชาติของประเทศไทยส่งออกในรูปของยางแปรรูปขั้นต้นคิดเป็นประมาณร้อยละ83 และส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 17 ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยางกลุ่มปลายน้ำ เช่น ยางล้อ รองเท้ายาง ยางอุตสาหกรรม ถุงมือ และเส้นด้ายยางยืด เป็นต้น

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน
1. อุตสาหกรรมยางพารา เป็นการแปรรูปยางพาราขั้นต้น จากน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น และยางแห้ง (ยางแผ่น ยางแท่ง)
2. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เป็นการนำยางแปรรูปขั้นต้นไปทำผลิตภัณฑ์ เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ยางยืด ยางล้อรถยนต์ ยางล้อจักรยานยนต์และยางล้อจักรยาน ชิ้นส่วน ยานยนต์ สายพานลำเลียง หลอดและท่อ ยางรัดของ ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรม ฯลฯ

ที่มา :   สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม